ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ตัวเลขศก.สหรัฐที่อ่อนแอกดดัชนีดอลล์ขยับลง

นิวยอร์ค--19 ม.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับลงเล็กน้อยในวันพุธ หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอหลายตัว และปัจจัยดังกล่าวช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจใกล้ที่จะหยุดพักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์กันอีกด้วยว่า ดอลลาร์สหรัฐอาจจะผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และดอลลาร์อยู่ในช่วงขาลงในตอนนี้ ทั้งนี้ ดอลลาร์แกว่งตัวผันผวนในระหว่างวัน และได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้างในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ในขณะที่นักลงทุนลดความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางการดิ่งลงของตลาดหุ้น หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นแบบสายเหยี่ยว

  • ดอลลาร์อยู่ที่ 128.88 เยน ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันอังคารที่ 128.13 เยน หลังจากพุ่งขึ้น 2.7% ในระหว่างวันจนแตะจุดสูงสุดของวันที่ 131.58 เยน ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.0792 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ โดยขยับขึ้นจาก 1.0788 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันอังคาร ทางด้านดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 102.33 ในช่วงท้ายวันพุธ โดยขยับลงจาก 102.40 ในช่วงท้ายวันอังคาร ทั้งนี้ ปอนด์อยู่ที่ 1.2349 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายวันพุธ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 1.2287 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายวันอังคาร ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.7% สู่ 0.6936 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 0.7064 ดอลลาร์สหรัฐในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2022 ทางด้านดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์แคนาดาปรับขึ้น 0.8% สู่ 1.3497 ดอลลาร์แคนาดาในช่วงท้ายวันพุธ

  • ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดัน หลังจากสหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.1% ในเดือนธ.ค. หลังจากรูดลง 1.0% ในเดือนพ.ย. โดยยอดค้าปลีกได้รับแรงกดดันจากการดิ่งลงของยอดขายยานยนต์และสินค้าอื่น ๆ ส่วนกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายร่วงลง 0.5% ในเดือนธ.ค. หลังจากปรับขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย. และนักลงทุนก็มองว่ารายงานดัชนี PPI และยอดค้าปลีกนี้บ่งชี้ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อกำลังปรับลดลงในสหรัฐ นอกจากนี้ เฟดยังรายงานในวันพุธอีกด้วยว่า ผลผลิตภาคโรงงานของสหรัฐดิ่งลง 1.3% ในเดือนธ.ค. ถึงแม้โพลล์รอยเตอร์คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผลผลิตภาคโรงงานอาจปรับลดลงเพียง 0.3% ในเดือนธ.ค.

  • นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่สูงกว่ากรอบ 5.00-5.25% เล็กน้อย เพื่อจะได้ควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ส่วนนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่สูงกว่า 5% "โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" ก่อนที่จะหยุดพักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดมีส่วนกดดันตลาดหุ้นสหรัฐให้ดิ่งลง และกระตุ้นให้ราคาพันธบัตรปรับขึ้นต่อไป ซึ่งส่งผลลบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ 3.375% ในช่วงท้ายวันพุธ จาก 3.535% ในช่วงท้ายวันอังคาร

  • ยูโรพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงแรก หลังจากนายฟรองซัวส์ วิลเลอรอย เดอ กาโล สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงเป็นเวลาที่เร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่า อีซีบีจะตัดสินใจอย่างไรในการประชุมเดือนมี.ค. โดยเขากล่าวถึงเรื่องนี้หลังจากมีข่าวออกมาในวันอังคารว่า อีซีบีอาจจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้นในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากต่อไป--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

התחבר או צור חשבון בחינם לתמיד כדי לקרוא את החדשות האלה